"พระประจำวันเกิดทั้ง 7 วัน พร้อมความหมาย"


          พระประจำวันเกิด หรือ พระค้ำชะตา เป็นความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างคติความเชื่อทางพุทธศาสนากับความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์โดยเชื่อกันว่าดาวเคราะห์แต่ละดวงมีอิทธิพลต่อชีวิตของมนุษย์


พระประจำวันเกิดมีทั้งหมด 8 ปาง แต่ละปางมีความหมายดังนี้

พระประจำวันอาทิตย์ - ปางถวายเนตร

           พระพุทธรูปปางถวายเนตร พระอิริยาบถอยู่ในลักษณะประทับยืน พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานกัน ทรงอยู่ในอาการสังวร พระเนตรเพ่งไปข้างหน้า มาจากเรื่องราวในพุทธประวัติกล่าว่าที่ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้เสด็จมาประทับยืนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ และเพ่งมองต้นพระศรีมหาโพธิเป็นเวลา ๗ วันโดยไม่กระพริบพระเนตรเลย ทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นทิศเดียวกับดวงอาทิตย์ตามภูมิทักษาในตำราทางโหราศาสตร์ อีกทั้งพระอาทิตย์ยังหมายถึงดวงตาด้วย จึงถือเอาปางนี้เป็นพระประจำวันอาทิตย์

พระประจำวันจันทร์ - ปางห้ามญาติ หรือ ห้ามสมุทร

           พระพุทธรูปปางห้ามญาติ หรือปางห้ามสมุทร พระพุทธรูปปางห้ามญาติ จะยกเพียงมือขวาขึ้นถึงบริเวณหน้าอกเพียงข้างเดียวความเป็นมาจากพุทธประวัติคือห้ามญาติฝั่งบิดาและฝั่งมารดาทะเลาะแย่งแม่น้ำโรหิณีกัน ส่วนปางห้ามสมุทร จะยกมือทั้งสองข้างขึ้นมาบริเวณหน้าอก ความเป็นมาคือทรงแสดงพุทธปาฏิหาริย์เพื่อทำลายทิฐิมานะของเหล่าฤษีทั้งหลาย ด้วยการห้ามฝน ห้ามลม ห้ามพายุ และห้ามน้ำไม่ให้ท่วมบริเวณที่ประทับ ทำให้พวกฤษีเห็นเป็นที่อัศจรรย์และยอมบวชเป็นพุทธสาวก ที่ปางนี้เป็นปางประจำวันจันทร์ เป็นเพราะดวงจันทร์เป็นดาวประจำธาตุน้ำ และหมายถึงญาติพี่น้อง ปางนี้จึงช่วยห้ามสิ่งไม่ดีที่จะเข้ามาสู่ชีวิต

พระประจำวันอังคาร - ปางไสยาสน์ หรือ ปางปรินิพพาน

           พระพุทธรูปปางไสยาสน์ หรือปางปรินิพพาน พระอิริยาบถนอนตะแคงข้างขวา พระหัตถ์ขวาหงายวางอยู่ที่พื้นข้างพระวรกาย มือซ้ายวางแนบลำตัว พระบาททับซ้อนกัน มาจากการที่พระพุทธองค์ทรงบรรทมระหว่างต้นรังคู่แบบสีหไสยาสน์ โดยตั้งใจจะปรินิพพาน ปางนี้จึงเป็นการรำลึกถึงการเสด็จดับขันธปรินิพพาน ที่ปางนี้เป็นพระประจำวันอังคาร เป็นเพราะดาวอังคารถือเป็นดาวมรณะ และพระพุทธเจ้าก็เสด็จดับขันธปรินิพพานในวันอังคาร จึงเป็นปางที่ต้องการให้ระลึกถึงการใช้ชีวิตอย่างมีสติ อยู่อย่างสงบสุข

พระประจำวันพุธ (กลางวัน) - ปางอุ้มบาตร

           พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร อยู่ในอิริยาบถยืนอุ้มบาตร มาจากเมื่อครั้งที่ได้แสดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปในอากาศต่อหน้าญาติ ทำให้ลดทิฐิลง พร้อมทั้งมีการเทศนา แต่ญาติไม่มีใครได้ถวายอาหารให้เพราะเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าและพระสาวกจะฉันอาหารที่เตรียมไว้ในวัง แต่พระพุทธองค์ได้พาเหล่าพระสาวกเสด็จจาริกไปตามถนนหลวงเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ เป็นครั้งแรกที่ชาวกรุงกบิลพัสดุ์ได้เห็นพระพุทธจริยาวัตรทรงอุ้มบาตร ที่ปางนี้เป็นปางประจำวันพุทธ เป็นเพราะดาวพุธ เป็นดาวที่เกี่ยวกับการเดินทางและอาหาร จึงทำให้เมื่อบูชาปางนี้จะพบแต่ความอุดมสมบูรณ์

พระประจำวันพุธ (กลางคืน) - ปางป่าเลไลยก์

           พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ อยู่ในอิริยาบถประทับนั่งบนก้อนศิลา พระบาททั้งสองข้างวางบนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาหงาย มีช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำไว้ และมีลิงถือรวงผึ้งถวาย มาจากขณะพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เมืองโกสัมพี พระภิกษุเกิดความแตกสามัคคีและไม่ยอมอยู่ในพุทธโอวาส พระพุทธองค์จึงเสด็จจาริกไปอยู่ในป่าปาลิไลยะตามลำพัง โดยมีพญาช้างเชือกหนึ่งตามมาเฝ้าปฏิบัติ เมื่อพญาลิงเห็นช้างปรนนิบัตรพระพุทธองค์ก็เกิดกุศลทำตามบ้าง เมื่อชาวบ้านไปเฝ้าพระพุทธองค์ไม่พบและทราบสาเหตุ ต่างพากันตำหนิภิกษุเหล่านั้นและไม่ยอมทำบุญ ภิกษุเหล่านั้นจึงเกิดความสำนึกผิด พากันไปทูลเชิญพระพุทธองค์กลับมา พระพุทธรูปปางนี้จึงเตือนสติถึงความแตกสามัคคีและทะเลาะวิวาทกัน
( ผู้ที่เกิดระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันพุธถึง 06.00 น.ของวันพฤหัสบดี หรือบางคนก็นับตั้งแต่ 18.00 – 24.00 น.ของวันพุธ (สุดแต่ความเชื่อ))

พระประจำวันพฤหัสบดี - ปางสมาธิ หรือ ปางตรัสรู้

           พระพุทธรูปปางสมาธิ หรือปางตรัสรู้ อยู่ในอิริยาบทนั่งสมาธิ มือขวาวางทับมือซ้ายบนหน้าตัก มาจากตอนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือคือวันวิสาขบูชา ที่เป็นปางประจำวันพฤหัส เป็นเพราะดาวพฤหัสเป็นดาวที่หมายถึงความสำเร็จและสติปัญญา เปรียบเสมือนพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้และทรงสั่งสอนพุทธบริษัทและเหล่าเวไนยสัตว์

พระประจำวันศุกร์ - ปางรำพึง

           พระพุทธรูปปางรำพึง อยู่ในอิริยาถยืน มือทั้งสองข้างวางอยู่บนอก มือขวาทับมือซ้าย มาจากการที่หลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้และคิดได้ว่าธรรมที่ตรัสรู้นั้นเป็นเรื่องลึกซึ้ง ละเอียดอ่อนเกินกว่ามนุษย์จะเข้าใจ จึงคิดจะไม่สั่งสอนธรรมแก่มนุษย์แล้ว แต่ท้าวสหัมบดีพรหมก็ขอให้พระองค์ทรงสั่งสอนชาวโลกอีกครั้งโดยบอกว่ายังมีมนุษย์ที่กิเลสเบาบางยังจะฟังธรรมอยู่ พระพุทธเจ้าเห็นด้วยจึงหันกลับมาสั่งสอนธรรมต่อไป ที่ปางนี้เป็นปางประจำวันศุกร์ เป็นเพราะดาวศุกร์เป็นตัวแทนเกี่ยวกับโลกีย์ ที่ต้องใช้อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด เปรียบเสมือนพระพุทธเจ้าคิดถึงเรื่องธรรมะที่เผยแพร่ เป็นเรื่องที่สวนทางกับจิตมนุษย์ แต่ก็จะทำให้มนุษย์ตระหนักคิดให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ลุ่มหลงไปกับกิเลส

พระประจำวันเสาร์ - ปางนาคปรก

           พระพุทธรูปปางนาคปรก อยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ โดยมีพญานาคราชขดร่างเป็นบัลลังก์และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือพระเศียร เพราะเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วได้นั่งบำเพ็ญสมาธิอยู่นั้นฝนตกลงมาไม่หยุดได้มีพญานาคราชตนหนึ่งชื่อว่า “มุจลินท์นาคราช” ขึ้นมาแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการขนดร่างเป็นวงกลม ๗ รอบแล้วแผ่พังพานปกคลุมพระพุทธเจ้าไว้ เมื่อฝนหยุดตกจึงได้แปลงร่างเป็นมาณพเข้าเฝ้า ที่ปางนี้เป็นปางประจำวันเสาร์ เป็นเพราะวันเสาร์เป็นวันแข็ง และดาวเสาร์ก็เป็นดาวบาปเคราะห์ใหญ่ คนที่เกิดวันนี้จึงมีลักษณะดวงอาภัพ จึงให้ปางนาคปรกเป็นปางประจำวัน เพื่อที่จะได้มีพญานาคปรกคุ้มครองปกป้องให้พ้นทุกข์ภัยต่างๆ